เที่ยวของเชียงคาน

วัดในอำเภอเชียงคาน

Posted on: กรกฎาคม 28, 2009

 

วัดโพนชัยวัดโพนชัย

          วัดโพนชัย ตั้งอยู่บ้านเชียงคาน ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคานจังหวัดเลย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2443 โดยมีพญาผ่อจานญา (ญาครูญา) และพระยา ศรีอรรคฮาด ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเชียงคานในสมัยนั้น เป็นผู้ก่อสร้างขึ้นคู่กับเมืองเชียงคานเพื่อให้บ่าวไพร่ได้เข้าไปบำเพ็ญกุศลภายในวัด ตลอดถึง การพักอาศัย พร้อมทั้งเป็น สถานที่ประชุม ปรึกษาหารือข้าราชการต่าง ๆ ให้กับชาวบ้านด้วย เพระในสมัยโบราณจะอาศัยศาลาวัดเป็นจุดรวมของ ประชาชนจึงนิยมสร้างวัดใกล้กับที่ว่าการของเจ้าเมืองต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2452 เมืองเชียงคานซึ่งมีพระยาศรีอรรคฮาดเป็นเจ้าเมือง ได้ตั้งเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดเลย และพระยาศรีอรรคฮาด ได้รับตำแหน่งเป็นนายอำเภอคนแรกของเชียงคาน ในสมัยก่อนอาณาเขตของวัดโพนชัย จะติดกับที่ทำการของพระยาศรีอรรคฮาด (ปัจจุบันคือโรงเรียนบ้านเชียงคานปทุมมาสงเคราะห์) ต่อมาเพื่อความเจริญของอำเภอทางวัดจึงได้แบ่งปันพื้นที่ี่บางส่วน ให้กับส่วนราชการเพื่อสร้างการประปาเชียงคานขึ้นและมีบางส่วนได้ถูกบุกรุกเป็นที่ทำกินจึงทำให้วัดโพนชัย มีสถานที่เหลือเพียง 9 ไร่ และสมัยพระยนต์เป็นเจ้าอาวาสได้มีการขยายอาณาเขตวัดออกอีก 4 ไร่ 30 ตารางวาครั้งต่อมาเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
(พระครูมงคลโชติคุณ) เห็นว่าเนื้อที่ของวัดไม่พอกับการปลูกสร้างกุฏิและทำกิจกรรมต่าง ๆ จึงได้มีการขยายเขตเพิ่มขึ้นอีก 4 ไร่ รวมเป็นเนื้อที่ทั้งหมด 17 ไร่ 30ตารางวา                             

 

วัดศรีคุณเมือง
  วัดศรีคุณเมือง
              วัดศรีคุณเมืองมีประวัติความเป็นมายาวนาน น่าศึกษายิ่ง เป็นวัดเก่าแก่ร้างขึ้นพร้อมกับการตั้งบ้าน ตั้งเมืองเชียงคานหลายชั่วคราวคนแล้ว และเป็น ที่พำนักของพระเถระผู้ใหญ่ในอดีต ประชาชนจึงได้กล่าวขานว่า “วัดใหญ่” จากตำนานและหลักฐานหลายสิ่งหลายอย่างได้พบว่า พระยาอนุพินาถและภรรยาพร้อมทั้งบุตรธิดาวงศาคณาญาติ มีท้าวพระยาแม่น เป็นต้น ได้สร้างพระอุโบสถ กับพระพุทธรูปไว้เพื่อเป็นพระพุทธบูชาที่วัดศรีคุณเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2380 (จ.ศ. 1199) 
วัด ศรีคุณเมืองว่าจากเจ้าอาวาส การปกครองวัด ก็มีพรพรรษาอ่อน ๆ (น้อย) ไม่ค่อยจะมั่นคง เจ้าคณะตำบลเชียงคาน เขต 1 ได้ดูแลรักษาตามหน้าที่มาโดยลำดับ เมื่อ พ.ศ. 2527 พณ.ฯ ท่านพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ได้นำผ้ากฐินมาทอดแล้วมอบจตุปัจจัยถวายไว้วัดศรีคุณเมือง เพื่อปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดเป็นเงินทั้งสิ้น 350,000 บาท ทางเจ้าอาวาส ผู้รักษาการอยู่ในขณะนั้นจึงได้ชักชวนทายกทายิกาทำการ ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ โดยเปลี่ยนหลังคากระเบื้องซิเมนต์ออก เป็นกระเบื้องดินเผาเคลือบสีแทน สำเร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. 2528 พลเอกสมคิด จงพยุหะ พร้อมด้วยอาจารย์น้อมฤดี ศรภรรยา
ได้นำเงินจำนวน 14,500 บาท มาถวายวัดศรีคุณเมือง เพื่อเป็นทุนสำรองในการบูรณะวัดพร้อมทั้งชาวเชียงคานก็ได้บริจาคสมทบด้วยตามกำลังศรัทธา
ปี 2532 เกิดวาตภัยอย่างร้ายแรง ส่งผลให้หลังคาพระอุโบสถว่างเปล่า พายุหอบเอาดินกระเบื้องออกไปหมด ค่าเสียหายมากพอสมควร ต่อมาพระเณรภายในวัดศรีคุณเมืองตลอดทั้งญาติโยม ช่วยกันเก็บเอากระเบื้องดินเผาที่ยังไม่เสียหายพอจะมุงได้มามุงหลังคาอีกและไปสั่งกระเบื้องใหม่มาเพิ่มเติมอีกจนพอ ขณะนั้นมีพระบุญเลิศรักษาวัดเป็นเจ้าอาวาสชั่วคราว จ้างคนมุงหลังคาพระอุโบสถ แต่การปฏิบัติมุงหลังคาไม่ถูกต้องตามหลักการประกอบกับไม้ส่วนบนผุพังยุบหมดสภาพไปตามกาลเวลาหลังคาพระอุโบสถจึงการรั่วไหลในเวลาฝนตก ไม่เหมาะสม ที่จะประกอบสังฆกรรมของสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฤดูฝน
(ฝนตกมาก ๆ ) หากปล่อยไว้เนิ่นนานไป หลังคา ตลอดทั้งเพดานส่วนที่เป็นไม้ก็จะเสียหายมากขึ้น ทั้งจะเป็นความเสียหายต่อศาสนสมบัติที่เก็บรักษาไว้ในพระอุโบสถซึ่งบางชิ้นได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของชาติ คือ
1. ธรรมาสน์ไม้สักแกะสลักลายประดับกระจกสี
2. พระพุทธรูปยืนชนิดไม้ทาน้ำทอง
 3. พระพุทธรูปปางประธานอภัยชนิดไม้ทาน้ำทอง
4. ศิลาจารึกชนิดหิน
                 ทั้ง 4 อย่างนี้ เป็นโบราณวัตถุศิลปะล้านช้างที่มีอายุพุทธศตวรรษที่ 23 – 24 ทั้งหมดนี้เก็บรักษาไว้ที่พระอุโบสถวัดศรีคุณเมือง เมื่อ พ.ศ. 2533 พระครูสิริกัลยาณวัตร รองเจ้าคณะอำเภอเชียงคาน ได้มาดำรงตำแห่ง เจ้าอาวาสวัดศรีคุณเมือง จึงได้ปรารภที่จะ ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถที่กำลังทรุดโทรมใช้การไม่ได้ให้คงสภาพเดิม โดยอนุรักษ์ส่วนที่มีคุณค่าทางศิลปะให้คงอยู่ตลอดชั่วกลนาน ปี 2533 ก็มีกฐินจากกรุงเทพฯ นำโดย พันจ่าไชยยัน ได้จตุปัจจัย ร่วมสองหมื่นบาท (20,000) บาท พ.ศ. 2534 คุณโยมทองคำ ขำหรุ่นก็ได้นำกฐินมาทอดวัดศรีคุณเมือง รวมจตุปัจจัยไว้ให้ทางวัดเพื่อบำรุงปฏิสังขรณ์จำนวนเงิน 150,000 บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ฉะนั้น ทางเจ้าอาวาสและทายกทายิกาคุ้มวัดศรีคุณเมืองจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ เพื่อปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ในส่วนข้างบนหลังคาอุโบสถก่อน จึงได้นายช่างสาคร คงพูลเพิ่ม จังหวัดกาฬสินธุ์ มาทำการปฏิสังขรณ์ เริ่มลงมือปฏิบัติงาน เดือน มกราคม 2535 เดือน มีนาคม ก็สำเร็จเรียบร้อย เป็นขั้นตอนที่ 1 ทางวัดศรีคุณเมืองก็ได้อาศัยปัจจัยที่รวบรวมมาจากที่ต่าง ๆ
 
 
wat03วัดท่าคก
             ตั้งอยู่เลขที่ 25 บ้านเชียงคาน ถนนชายโขง หมู่ที่ 2 ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลยสังกัดคณะะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน โฉนดที่ดิน เลขที่ 170 วัดท่าคก ตั้งวัดเมื่อ 2395 เดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นคุ้มวัดน้ำวน ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า“คก”จึงใช้นิมิตหมายอันนี้ตั้งชื่อว่าวัด “วัดท่าคก”ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีถนนตัดผ่านยังไม่ได้เป็นอำเภอ วัดท่าคกจึงตั้งอยู่ในเมือง ๆ หนึ่ง เรียกว่า เชียงคาน ขึ้นกับมณฑลพิษณุโลก ตามตำนานเล่ากันว่า พระสรีอัคฉาด และชาวบ้านช่วยกันสร้างวัดขึ้น ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2410 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 7 เมตร ยาว 13.60 เมตร อุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนศิลปะล้านช้าง
ศาลาการเปรียญ กุฎิสงฆ์ ศาลาบำเพ็ญกุล หอระฆัง โรงครัว โรงเรือ มีพระประธานปูนปั้น พระพุทธรูปทองเหลือง พระแก้วเขียว พระพุทธรูปแกะด้วยไม้ และศิลาจารึกรูปใบพายเป็นหินทราย

 

 

วัดป่ากลางwat04

ก่อน พ.ศ. 2466 นี้มี 2 วัด คือ วัดกลาง กับ วัดป่า ต่อมา พ.ศ. 2466 ได้ย้ายวัดกลาง ไปวัดป่า เรียกว่าวัดป่ากลาง คือย้ายจากวัดกลางจากท่าเรือเก่า บริเวณซอย 10 ด้านล่างริมแม่น้ำโขง ไปวัดป่า ที่วัดกลางมีผู้ขุดพบพระพิมพ์ต่างๆ มากมายฝังเอาไว้ในดิน หลังจากได้มีการสร้างถนนชายโขงผ่ากลางวัดกลาง และแม่น้ำโขงกัดเซาะใกล้จะถึงพระอุโบสถ ขึ้นมาอยู่ที่วัดป่า (วัดมัชฌิมาราม) ปัจจุบัน แต่ก่อนเป็นป่าเลยเรียกว่าวัดป่า ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างคุ้มบ้านเหนือกับคุ้มบ้านใต้ ซึ่งวัดทั้งสองห่างกันเพียง 130 เมตร ชาวบ้านจึงรวมกันเป็นวัดเดียวกันเรียกว่า วัดป่ากลาง โดยพระยาปากดี ต้นตระกูล แพงขวา ทำหน้าที่ว่าความต่างๆ วัดป่ากลาง มีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ น่ากลัวมากตอนกลางคืนไม่มีใครกล้าเดินผ่าน ต่อมามีการขยายถนนลาดยางเลย-ปากชม เลยต้องมีการโค่นทิ้งอย่างน่าเสียดาย และพระวิชิตธรรมมาจารย์ (คำตัน) ได้สร้างบันไดคอนกรีตลงสู่แม่น้ำโขง สิมใหม่วัดป่ากลาง ศิลปกรรมแบบใหม่วัดป่ากลางตั้งอยู่ เลขที่ 340 บ้านเชียงคาน หมู่ที่ 1 ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มีเนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 56 ตารางวา โฉนดเลขที่ 1955 มีพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ศิลปะเชียงแสน รุ่นสิงห์ 3 หน้าตักกว้าง 11 นิ้วและพระพุทธรูปไม้แกะสลักอีก 15 องค์ พ.ศ. 2596 สร้างอุโบสถ หลังเก่า มีศิลปะสวยงามมาก ปัจจุบันได้ปรับปรุงกลายเป็นศิลปะสมัยใหม่แล้วคุณพ่อคำเพ็ง คุณแม่ละแหม่ม ตันมิ่ง พร้อมครอบครัวผู้เขียน ได้บริจาคเงิน 20,000 บาท เพื่อทำเศวตรฉัตรช่อฟ้าตรงกลางยอดโบสถ์ เพื่อให้เป็นศิริมงคลแก่บ้านแก่เมือง และคุณพ่อคำเพ็ง ตันมิ่ง เป็นโยมอุปัฏฐาก ช่วยเหลือทะนุบำรุงวัดป่ากลางมาตลอดชีวิต พ.ศ. 2532 `ได้สร้างศาลาการเปรียญ ทรงไทยครึ่งตึกครึ่งไม้ สองชั้น หอสวดมนต์ พระประธานในโบถส์ มีพระอธิการจันทร์ จนฺทโชโต เป็นเจ้าอาวาสในปัจจุบัน แต่ก่อน ตลาดสดตั้งอยู่บริเวณวัดป่ากลางเก่า (ท่าเรือเก่า) เพื่อติดต่อค้าขายระหว่าประชาชนริมแม่น้ำโขง ชาวบ้าน บ้านปากพาง บ้านตากแดด บ้านสานะคาม เอาสินค้ามาขายทุกเช้า ข้ามแม่น้ำโขงมาค้าขายได้อย่างเสรี ต่อมาย้ายไปตั้งอยู่ที่ข้างบนระหว่างซอย 9 กับ ซอย 10 แล้วจึงย้ายไปนาน้อย ที่ตลาดสดเทศบาล ในปัจจุบันและแต่ก่อน มี 2 ตลาด คือ ตลาดเช้า กับตลาดแลง ตลาดเช้าตั้งอยู่ตลาดสดปัจจุบัน ส่วนตลาดแลงตั้งอยู่ที่คิวรถเก่าหน้าธนาคารออมสิน ต่อมาก็ปิดตัวลง แล้วย้ายไปที่หน้าวัดป่าใต้

         ต่อมาในสมัยพระมหาเกียรติ วุฑฒิสาโร ได้เปลี่ยนชื่อจากวัดป่ากลางเป็นวัดมัฌชิมาราม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในชื่อ วัดป่ากลาง เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493

 

wat05วัดป่าใต้

วัดป่าใต้ ตั้งอยู่เลขที่ 383 หมู่ที่ 2 ถนนศรีเชียงคาน ซอย 17 บ้านเชียงคาน ตำบลเชียงคานอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย 42110 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา โฉนดเลขที่ 2483 วัดป่าใต้ตั้งวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2415 เดิมเป็นวัดป่า พระธุดงค์ได้มาพักปักกลดและจำพรรษา เพราะแต่เดิมเป็นป่าร่มรื่น เงียบสงบ ต่อมาพระครูศรี สิริสุโข และหลวงพรหม (ต้นตระกูล ศรีอรรคพรหม) รองเจ้าเมืองเชียงคาน พร้อมด้วยชาวเชียงคานได้ร่วมกันสร้างถาวรยิ่งขึ้น ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร มีการจัดการปกครองศึกษาเผยแผ่และสาธารณูประการให้ทันต่อเหตุการณ์และบริการสังคม คือ
          ปี พ.ศ. 2522 เริ่มตั้งเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรมที่วัดป่าใต้ และสอนอยู่ประจำจนถึงปัจจุบัน
          ปี พ.ศ. 2531 เริ่มจัดการบรรพชาสามเณรทุก ๆ ปี 1-30 เมษายน ของทุกปีตลอดถึงปัจจุบัน
          ปี พ.ศ. 2532 เริ่มจัดวัดเป็นอุทยานการศึกษาเขียนป้ายคำขวัญและเปิดห้องสมุดประจำวัดป่าใต้
          ปี พ.ศ. 2533 เริ่มตั้งเป็นศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวัน อาทิตย์ หน่วยพุทธมามกะ หน่วยอบรมศีลธรรม เพื่อให้การอบรมเยาวชนและให้การเผยแพร่ธรรมมะแก่ประชาชนทั่วไป
          ปี พ.ศ. 2547 เริ่มสร้างพิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรมเมืองเชียงคานที่วัดป่าใต้ เพื่อรวบรวมของเก่าทั้งทางศาสนาและทางท้องถิ่นชาวเชียงคาน เพื่ออนุรักษ์เก็บรักษา ให้เป็นแหล่งการศึกษาการเรียนรู้ของเยาวชนและประชาชนทั่วไป

 

 แหล่งข้อมูลจาก เทศบาลตำบลเชียงคาน
ที่พักสะอาด สงบ สบายที่เชียงคาน คลื๊กเลย!

ใส่ความเห็น

คลังเก็บ